วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2551

เด็กเอ๋ยเด็กน้อย....ความรู้เจ้ายังด้อยเร่งศึกษา


ไม่มีความคิดเห็น:

หน่วยที่ 1

ความหมายและความสำคัญของนวัตกรรมและสารสนเทศ

1.1 ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา

คำว่า นวัตกรรมการศึกษา ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Education Innovation ซึ่งหมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ที่อาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมถึงสิ่งประดิษฐ์เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารจัดการทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้รวดเร็ว กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจและแสวงหาความรู้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมส่วนใหญ่จะเกิดจากส่วนประกอบของเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงก็มักจะทำให้นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงไปด้วย

1.2 ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา

คำว่า เทคโนโลยี เป็นคำที่ใช้ทับศัพท์คำว่า Technology ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาค้นพบทางด้านวิทยาศาสตร์แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น เทคโนโลยีการศึกษาจึงหมายถึง การนำเทคโนโลยีบางอย่างมาประยุกต์ใช้กับการศึกษา เพื่อสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
คำว่า นวัตกรรม และ เทคโนโลยี จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกัน แม้ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์และสิ่งประดิษฐ์มาประยุกต์ โดยมีกระบวนการกระทำหรือการจัดการทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า เทคโนโลยี แทน โดยเฉพาะในปัจจุบันได้มีการประยุกต์วิธีการโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology) ซึ่งประกอบด้วยคอมพิวเตอร์และการสื่อสารทางไกลเป็นองค์ประกอบหลักเข้ามาใช้ในการศึกษา จึงมักจะเรียกว่า การใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารการศึกษา หรือเรียกย่อว่า การใช้ ICT ทางการศึกษา แทนที่จะใช้คำว่า “นวัตกรรมทางการศึกษา” และเพื่อให้สอดคล้องกับความนิยมในการใช้คำเช่นนี้ ในบทเรียนนี้จึงใช้คำว่า เทคโนโลยีการศึกษา แทน โดยให้หมายถึง นวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นองค์ประกอบหลักที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการ ศึกษา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในการศึกษาปัจจุบัน


1.3 ความหมายของระบบสารสนเทศ

ระบบที่จะนำมาใช้ในการบริหารงานในที่นี้ ได้แก่ ระบบสารสนเทศ (Information system) ซึ่ง อนันต์ เกิดดำ (2548) ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
ระบบสารสนเทศ คือ เซ็ตขององค์ประกอบที่สัมพันธ์กันซึ่งรวบรวม ประมวล จัดเก็บและเผยแพร่สารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการควบคุมในองค์กร
1. ข้อมูลนำเข้า (Input) คือ ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำเข้าสู่ระบบเพื่อจะทำให้เกิดการประมวลผลขึ้น ข้อมูลที่จำเป็นจะมาจากสภาพแวดล้อมของระบบ ส่วนจะเป็นอะไรนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละระบบ เช่น ถ้าเป็นระบบบริหารในสถาบันการศึกษา ข้อมูลนำเข้าอาจประกอบด้วย อาจารย์ นักเรียน อาคารเรียน รายวิชาต่าง ๆ
2. การประมวลผล (Processing) คือ การเปลี่ยนรูปแบบข้อมูลให้อยู่ในรูปที่มีความหมาย ซึ่งอาจจะได้แก่ การคำนวณ การสรุป หรือการจัดหมวดหมู่ของข้อมูล การประมวลผลประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย ดังนี้
2.1 บุคลากร หมายถึง บุคคลที่ทำงานในองค์กรในฝ่ายสารสนเทศ
2.2 กระบวนการ หมายถึง ขั้นตอนการทำงานซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อให้การทำงานได้ผลตามที่ต้องการ
2.3 ฮาร์ดแวร์ หมายถึง เครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ในระบบสารสนเทศ
2.4 ซอฟต์แวร์ หมายถึง ซอฟต์แวร์ระบบ และซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ใช้ในระบบทั้งหมด
2.5 แฟ้มข้อมูล หมายถึง ข้อมูลที่เก็บไว้ในแฟ้มข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการประมวล ผลคราวต่อไป ข้อมูลเหล่านั้นจะเก็บในหน่วยความจำสำรองขอ’คอมพิวเตอร์
3. ผลลัพธ์ (Output) คือ สารสนเทศที่ได้จากการประมวลผลซึ่งจะปรากฏอยู่ในรูปรายงานต่าง ๆ คุณลักษณะของสารสนเทศที่มีคุณภาพ ได้แก่
3.1 ตรงตามความต้องการ (Relevancy) หมายถึง ลักษณะที่สารสนเทศนั้นสามารถที่จะตอบคำถามในลักษณะที่เจาะจงได้ เช่น ในการขายเสื้อผ้าผู้ชาย ถ้าถามว่าเสื้อผ้าแบบไหน สีไหนขายได้ดีที่สุด
3.2 ความตรงต่อเวลา (Timeline) หมายถึง สารสนเทศที่ผลิตออกมานั้นจะผลิตออกมาทันกับความต้องการของผู้ใช้
3.3 ความเที่ยงตรง (Accuracy) หมายถึง สารสนเทศจะต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและมีข้อผิดพลาด ลักษณะที่บ่งบอกถึงความเที่ยงตรงได้แก่
3.3.1 ความสมบูรณ์ (Completeness) สารสนเทศที่จำเป็นจะต้องมีอย่าง
ครบถ้วน
3.3.2 ความถูกต้อง (Correctness) สารสนเทศจะต้องมีความถูกต้อง
3.3.3 ความปลอดภัย (Security) สารสนเทศจะต้องมีความปลอดภัย นั่นคือ ถ้าส่วนไหนจะให้ใครใช้ก็ใช้ได้เฉพาะคนนั้นเท่านั้น
3.4 ประหยัด (Economy) หมายถึง การใช้ทรัพยากรที่จะผลิตสารสนเทศนี้ใช้ในการแก้ปัญหาจะต้องไม่แพงมาก
3.5 มีประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง ศักยภาพในการพัฒนาสารสนเทศต่อหนึ่งหน่วยของทรัพยากรที่ใช้ เช่น ความตรงต่อเวลาต่อหนึ่งบาท เป็นต้น
4. ส่วนย้อนกลับ (Feed back) เป็นส่วนที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของการประมวลผลเพื่อให้การประมวลผลนั้นบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผลจากการเปรียบเทียบจะนำ ไปสู่การปรับข้อมูลนำเข้าหรือกระบวนการประมวลผล



1.4 ประเภทของระบบสารสนเทศที่ใช้ในองค์กร
ปัจจุบัน ระบบสารสนเทศเป็นที่นิยมใช้ในองค์การทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นองค์การขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ระบบสารสนเทศที่ใช้กันอยู่ในองค์กรทั่ว ๆ ไปจำแนกได้ ดังนี้
1.4.1 ระบบประมวลผลรายการ (Transaction Processing System: TPS) ระบบประมวลผลรายการเป็นพื้นฐานของระบบธุรกิจ ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยผู้บริหารในระดับปฏิบัติการระบบจะใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึกรายการประจำวันในการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ระบบการสั่งซื้อ ระบบการจองห้องพัก ระบบเงินเดือนและค่าจ้าง ระบบรับและสั่งสินค้าออก
เนื่องจากการบริหารในระดับปฏิบัติการ งานกฎเกณฑ์และเงื่อนไขได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอนแล้ว ดังนั้น การตัดสินใจจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจจะให้เครดิตแก่ลูกค้าของธนาคาร สิ่งที่ผู้บริหารในระดับนี้จะตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ เขาจะทำได้ก็เพียงแต่ตรวจว่าลูกค้ามีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่เท่านั้น
1.4.2 ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System: MIS)
ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารหรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า ระบบ MIS คือ ระบบที่ผลิตสารสนเทศที่ผู้บริหารต้องการเพื่อใช้ในการบริหารงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบจะผลิตรายงานเพื่อผู้บริหาร บางกรณีผู้บริหารอาจจะเรียกใช้ด้วยระบบออนไลน์ โดยทั่วไปแล้วระบบ MIS จะเป็นข้อมูลภายในองค์กร ไม่เกี่ยวกับข้อมูลภายนอกหรือข้อมูลสภาพแวดล้อม ในเบื้องต้น MIS จะผลิตสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร โดยเฉพาะในด้านการวางแผน การควบคุม และการตัดสินใจ
1.4.3 ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS)
ระบบสนับสนุนการตัดสินใจส่วนมากเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้การตัดสินใจของผู้บริหารเป็นไปได้อย่างสะดวก ระบบจะสามารถสรุปหรือเปรียบเทียบข้อมูลจากทุกแหล่งไม่ว่าจะเป็นข้อมูลภายในหรือข้อมูลภายนอกองค์กร แหล่งข้อมูลภายใน ได้แก่ ข้อมูลในแฟ้มข้อมูลในองค์กรที่มีอยู่แล้ว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการขาย ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต ข้อมูลทางด้านการเงิน ข้อมูลจากแหล่งภายนอก ได้แก่ ข้อมูลด้านอัตราดอกเบี้ย ข้อมูลแนวโน้มของประชากร หรือข้อมูลด้านความต้องการของตลาดโลก ระบบการตัดสินใจส่วนมากเป็นระบบที่มีการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ และจะมีความสามารถในการวิเคราะห์ค่าทางสถิติ มีตารางการทำงาน มีกราฟแบบ ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ประเมิน
ข้อมูลในการตัดสินใจในระบบสนับสนุนการตัดสินใจที่ก้าวหน้ามาก ผู้ใช้อาจจะสร้างแบบจำลองของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ ลักษณะของระบบสนับสนุนการตัดสินใจที่ดีอาจสรุปได้ ดังนี้
1. ระบบจะต้องใช้ช่วยผู้บริหารในกระบวนการตัดสินใจ
2. ระบบจะต้องสามารถสนับสนุนการตัดสินใจได้ทุกระดับ แต่จะเน้นที่ระดับวาง แผนบริหารและวางแผนกลยุทธ์
3. ระบบมีความสามารถในการจำลองสถานการณ์ และมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์สำหรับช่วยเหลือผู้ตัดสินใจ
4. ระบบจะต้องสามารถติดต่อกับฐานข้อมูลขององค์กรได้
5. ระบบจะต้องเป็นระบบที่ตอบโต้กับผู้ใช้ได้ สามารถใช้งานได้ง่าย ผู้ใช้สามารถใช้งานได้โดยพึ่งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญน้อยที่สุด
1.4.4 ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารระดับสูง (Executive Support System: ESS)
ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารระดับสูงเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงติดตามผลการปฏิบัติงานขององค์การ ติดตามกิจกรรมของคู่แข่ง ชี้ให้เห็นปัญหา มองหาโอกาส และคาดคะเนแนวโน้มต่าง ๆ ในอนาคต ในการนำ ESS มาใช้นั้น จะต้องออกแบบให้ระบบใช้ทั้งข้อมูลภายในและข้อมูลภายนอกองค์กร นอกจากนี้ ยังต้องรวมเอาเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการจำลอง การวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น LOTUS1-2-3, EXCEL หรือโปรแกรมตารางการทำงานอื่น ๆ
1.4.5 ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System)
ระบบผู้เชี่ยวชาญมีส่วนคล้ายคลึงกับระบบอื่น ๆ คือเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยผู้บริหารแก้ไขปัญหาหรือทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบผู้เชี่ยวชาญจะแตกต่างกับระบบอื่นอยู่มาก เนื่องจากระบบผู้เชี่ยวชาญจะเกี่ยวข้องกับ การจัดการความรู้ (Knowledge management) มากกว่าสารสนเทศ และถูกออกแบบให้ช่วยในการตัดสินใจโดยใช้วิธีเดียวกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์โดยใช้หลักการทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence)
ระบบผู้เชี่ยวชาญจะทำการโต้ตอบกับมนุษย์โดยมีการถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่าง ให้ข้อแนะนำ และช่วยเหลือในกระบวนการตัดสินใจ นั่นคือ การทำงานคล้ายกับเป็นมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ เนื่องจากระบบนี้ก็คือการจำลองความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ มานั่นเอง โดยผู้เชี่ยวชาญในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งผู้เชี่ยวชาญในการบริหาร ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องภาษี ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องยา หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในการทำอาหารก็ตาม

หน่วยที่ 2

บทบาทของสารสนเทศในการบริหารองค์กรทางการศึกษา

สถานศึกษาสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาไปใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทางการศึกษาได้อย่างหลากหลาย จะเห็นได้ว่าลักษณะบางอย่างของเทคโนโลยี เช่น ความรวดเร็ว การจัดเก็บอย่างเป็นระบบ การทำงานที่ไม่ผิดพลาด และการทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ตลอดจนลักษณะอื่น ๆ อีกมากล้วนแต่สามารถนำมาใช้ในงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะต้องคำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วย เช่น การขาดความเฉลียว การขาดการจำแนกความแตกต่างที่ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า ดังนั้น จึงต้องนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไปอยู่ในระบบเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

2.1 ลักษณะที่เทคโนโลยีสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

ครรชิต มาลัยวงศ์ (2549) ได้กล่าวถึงเหตุผลที่หน่วยงานต่าง ๆ ควรนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการไว้ ดังนี้
2.1.1 การทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำให้สามารถประยุกต์ไปใช้ในงานที่ต้องการให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีเวลาหยุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การฝากและถอนเงินจากธนาคาร ซึ่งประยุกต์ใช้เครื่อง ATM ทำให้ลูกค้าสามารถฝากถอนเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยโดยสร้างที่เก็บเงินให้แข็งแรงและนำไปตั้งไว้ในที่ปลอดภัย หรือมิเช่นนั้นก็ต้องสามารถส่งสัญญาณไปยังสถานที่ซึ่งสามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว คุณลักษณะข้อนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานบริหารจัดการได้จำนวนมาก ในทางการศึกษาก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน เช่น
การเรียนรู้ด้วยระบบ e - Learning ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตลอดเวลาที่ต้องการโดยไม่จำเป็นต้องเรียนตามตารางที่กำหนดไว้อย่างตายตัว บางครั้งผู้เรียนอาจไม่มีความพร้อมที่จะเข้าเรียน หรือบางครั้งกำลังเรียนด้วยความเข้าใจและอยากจะเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่พอหมดเวลาที่กำหนดไว้ก็ไม่สามารถจะเรียนต่อได้ แต่ระบบ e - Learning จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกเวลาที่เหมาะสมที่สุดตามที่ตัวเองต้องการได้ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้สอนหรือต้องคอยเรียนพร้อมกับผู้เรียนคนอื่น ๆ
2.1.2 การทำงานได้โดยไม่มีผิดพลาด ทำให้สามารถนำไปใช้ในงานจำนวนมากที่ต้องการความถูกต้องและเกิดผลที่ถูกต้อง เช่น การตรวจข้อสอบ การอ่านบาร์โค้ด การที่คอมพิวเตอร์สามารถทำงานดังกล่าวได้โดยไม่มีผิดพลาด ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กำหนดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล หนังสือ หรือสิ่งของ ตลอดจนสินค้าแต่ละรายการ โดยออกแบบให้คอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลเข้าไปที่มีความแตกต่างกัน เช่น อาจจะเป็นตัวเลข สัญลักษณ์ หรือรหัสต่าง ๆ เมื่อพบข้อมูลที่กำหนดไว้ก็จะสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ผิดพลาด
2.1.3 การทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถนำไปใช้กับงานที่มีปริมาณมาก ทำให้งานเสร็จได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ในสมัยแรก ๆ จึงมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในงานสำมะโนประชากรซึ่งต้องมีการนำข้อมูลจำนวนมากมานับรวมกัน และยังมีการคำนวณจำนวนมากด้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานในลักษณะดังกล่าว ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์คุณลักษณะข้อนี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง เช่น การสื่อสารที่ต้องการความรวดเร็ว ข้อมูลที่ส่งมาจากแหล่งต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลกันสามารถนำมาประมวลผลร่วมกันภายในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การรวมคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งจำนวนมาก สามารถนำมาประมวลผลและประกาศผลได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ในทางการศึกษาก็มีงานลักษณะเช่นนี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน เช่น การจัดทำข้อมูลการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย และการประกาศผลสอบคัดเลือก เป็นต้น
2.1.4 การทำงานอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดความชัดเจนของขั้นตอนการทำงาน รายละเอียดของข้อมูลนำเข้า และ รายละเอียดของผลผลิตของงาน ก่อนที่จะใช้คอมพิวเตอร์ทำงานจำเป็นจะต้องคิดวิเคราะห์และออกแบบระบบงานให้ชัดเจนเสียก่อน ต่อจากนั้นจึงจะสร้างระบบงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยทำงาน ในการทดลองระบบงานหรือในการทำงานจริง ถ้าพบข้อมูลผิดพลาดใด ๆ ก็สามารถตรวจสอบและค้นหาสาเหตุ หากพบสาเหตุที่ผิดพลาดก็จะสามารถแก้ไขชุดคำสั่งงานและทดลองจนกว่าจะได้ผลตามที่ต้องการ ผลจากการทำงานอย่างเป็นระบบทำให้มีการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้งานแทบทุกอย่าง ซึ่งนอกจากจะได้ผลงานตามความต้องการแล้วยังสามารถตรวจสอบองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนทุกขั้นตอนอีกด้วย
2.2 การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา

การที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษามีคุณลักษณะที่ดีหลายประการดังกล่าวข้างต้น จึงได้มีการพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทางการศึกษา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในการประยุกต์เข้าไปช่วยด้านการบริหาร จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะด้วย องค์ประกอบของเทคโนโลยีการศึกษาก็เช่นเดียวกัน หากจะนำไปใช้ในการบริหารจัดการก็ต้องเตรียมความพร้อมของทุกองค์ประกอบ และให้องค์ประกอบเหล่านั้นทำงานอย่างสอดคล้องกัน โดยต้องดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
2.2.1 การจัดทำแผนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและเตรียมตัวในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องให้ประสานสอดคล้องกัน การเตรียมงบประมาณรองรับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมคนที่จะดูแลระบบงานใหม่เพื่อให้สามารถทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ สิ่งสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ ผู้เกี่ยวข้องที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จำเป็นต้องได้รับทราบ และทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
2.2.2 การพัฒนาหรือจัดหาระบบเทคโนโลยีที่ต้องการนำเข้ามาใช้ จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยมีการพิจารณา ศึกษาวิเคราะห์ และคัดเลือกด้วยวิธีการที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลาและต้องให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ระบบที่ดีที่เหมาะสมต่อการใช้งาน การให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยจัดหาระบบจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการเปรียบเทียบระบบที่มีใช้กันอยู่แล้วกับระบบที่จะสร้างขึ้นใหม่หรือการเลือกใช้ระบบที่มีใช้กันอยู่ที่อื่น แต่อาจจะต้องพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน และ ให้รวมไปถึงการจัดหาคณะผู้พัฒนาระบบ หรือผู้ให้บริการที่จะปรับปรุงพัฒนาระบบที่จะนำมาใช้ในสถานศึกษาที่จะนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้บริหารจัดการ
2.2.3 การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการมาก เนื่องจากระบบงานด้านเทคโนโลยีมีองค์ประกอบจำนวนมากทั้ง Hardware, Software, และ Application องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องจัดหาให้สอดคล้องกัน ปัญหาที่มักพบก็คือการใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกองค์กรที่ไม่เข้าใจ ความต้องการที่แท้จริงขององค์กร หรือการใช้บุคลากรขององค์กรที่ขาดความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายเพียงพอต่อการเลือกองค์ประกอบดังกล่าวให้เหมาะสมกัน โดยเฉพาะความทันสมัยของเทคโนโลยีของแต่ละองค์ประกอบที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การมีคณะจัดหาระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมจึงควรจะใช้ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรขององค์กรร่วมกัน โดยคณะทำงานนี้จะต้องมีเวลาร่วมกันพิจารณาและจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อให้ได้ระบบที่ดีที่สุด ในระหว่างที่มีการพิจารณาจัดหาอาจจะต้องไปศึกษาดูงานจากการใช้จริงขององค์กรอื่นที่เทียบเคียงกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างดี
2.2.4 การพัฒนาบุคลากรที่ควบคุมการใช้เทคโนโลยี เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ บุคลากรที่ควบคุมการใช้เทคโนโลยีจะต้องพัฒนาให้มีความรู้และสามารถทำงานตามข้อกำหนดของการใช้เทคโนโลยีได้อย่างครบถ้วน ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาหรือทำความเข้าใจกับผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถประยุกต์งานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับระบบงานใหม่ที่นำมาใช้ด้วย มิเช่นนั้นอาจจะพบว่ากว่าจะใช้งานได้พร้อมเพรียงกัน เทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ก็ล้าสมัยและจำเป็นต้องปรับปรุงใหม่ ทั้ง ๆ ที่ผลงานที่ได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด
2.2.5 การบำรุงรักษา เป็นเรื่องสำคัญมากที่การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาจะต้องมีแผนการบำรุงรักษาระบบงาน ซึ่งมีทั้ง Hardware, Software และ การพัฒนาบุคลากร ในการบำรุงรักษา Hardware จำเป็นต้องมีการปรับปรุงอุปกรณ์บางส่วนให้ทันสมัย อุปกรณ์บางส่วนต้องดูแลตามที่กำหนด Software บางส่วนต้องปรับปรุงให้รองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และระบบงานบางส่วนต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้งาน นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงการเพิ่มจัดทำระบบใหม่เพิ่มเติมที่ควรจะต้องสามารถเชื่อมต่อกับระบบเดิม และนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปใช้งานร่วมกัน หากข้อมูลจากระบบเดิมไม่สามารถหรือไม่สะดวกที่จะนำไปใช้กับระบบ งานใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา จะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการและจะนำไปสู่การเลิกใช้ระบบใดระบบหนึ่งต่อไป หรือมิเช่นนั้นก็ต้องจัดทำระบบใหม่และเลิกระบบที่สร้างขึ้นทั้งหมด ดังนั้น การบำรุง รักษาระบบงานให้เหมาะสมต่อความต้องการที่มีการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นคุณค่าและเกิดเจตคติที่ดีต่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการอีกด้วย
2.2.6 การติดตามประเมินผล ระบบงานบริหารจัดการที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยควรมีการประเมินผลอย่างน้อย 2 ส่วน ด้วยกัน ส่วนแรกต้องประเมินผลงานที่กำหนดไว้ในแผนงาน เช่น ความสามารถให้บริการตามเป้าหมาย การนำเสนอรายงานตามกำหนดเวลา ส่วนที่สองที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ การประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพื่อสะท้อนให้เห็นสถานภาพของระบบงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ ในด้านความรวดเร็ว ความแม่นยำถูกต้อง และความสะดวกในการใช้ระบบงาน การติดตามประเมินผลควรจะมีระยะเวลากำหนดไว้ตลอดช่วงเวลาในแต่ละปี หากพบข้อบกพร่องหรือมีข้อเสนอแนะที่ควรแก่การแก้ไขปรับปรุงก็ควรพิจารณา และปรับปรุงให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง

หน่วยที่ 3

นวัตกรรมทางการศึกษาและการบริหารการศึกษา
3.1 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะองค์ความรู้
ในประเทศไทย เทคโนโลยีทางการศึกษาในฐานะที่เป็นองค์ความรู้พบได้จากการที่มหาวิทยาลัยต่างเปิดสอนวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยระดับปริญญาตรีมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อไปปฏิบัติงานในลักษณะนักปฏิบัติในสถาบันการศึกษาและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาที่เป็นทั้งนักออกแบบ นักจัดการระบบ ผู้ควบคุมการผลิตและการใช้สื่อต่าง ๆ เนื้อหาที่สอนจะครอบคลุมถึงแนวคิดพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา สื่อทางการศึกษาที่จะครอบคลุมงานทางด้านกราฟิก เครื่องฉายต่าง ๆ เครื่องเสียง ภาพยนตร์ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ การใช้สื่อโทรคมนาคมเพื่อการศึกษา เช่น การใช้โทรศัพท์เพื่อการศึกษา การใช้วีดิโอเทกซ์ การใช้ดาวเทียม การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษา การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา
3.2 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะเครื่องมือในการบริหาร
ในฐานะเครื่องมือทางการบริหาร เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญซึ่งจำแนกได้ ดังนี้ 3.2.1 เป็นเครื่องมือในด้านการบริหารองค์กร เพื่อให้ดำเนินงานตามวิธีระบบและบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะจัดการเกี่ยวกับ :- (1) การกำหนดจุดมุ่งหมายและนโยบายเกี่ยวกับ บทบาท วัตถุประสงค์ การเรียนการสอน ตัวผู้เรียน และการจัดทรัพยากรการเรียน ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกัน (2) การให้การสนับสนุน จะต้องมีการวางแผนการจัดหาทรัพยากร ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการวางแผนปฏิบัติงานและการประเมินผลงาน (3) การจัดบริการที่มีประสิทธิภาพ (4) การสร้างความประสานสัมพันธ์ให้มีการร่วมมือในการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานย่อยในองค์กร ตลอดจนวิธีการเผยแพร่ข่าวสารและการติดต่อสื่อสาร เพื่อให้การปฏิบัติงานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและสำเร็จตามวัตถุประสงค์
3.2.2 การเป็นเครื่องมือด้านธุรการ ได้แก่ การผลิตเอกสาร การนัดหมาย การทำ ทะเบียนนักศึกษา ทะเบียนครุภัณฑ์ การทำบัญชีการเงิน และการควบคุมงบประมาณ 3.2.3 ด้านการบริหารงานบุคลากร เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้านการบริหารงานบุคลากรเพื่อการแต่งตั้งบุคลากรเข้ารับตำแหน่งให้เหมาะสมกับหน้าที่ โดยสอดคล้องกับความสามารถของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการแต่งตั้งแล้ว เทคโนโลยียังสามารถใช้ในการสรรหา การคัดเลือกบุคลากร การพัฒนาบุคลากร การนิเทศงาน การบำรุงขวัญการทำงาน สวัสดิการ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร 3.2.4 การบริหารวิชาการ จะใช้เทคโนโลยีในการเก็บระเบียนผลการเรียน การวัดและการประเมินผล พร้อมทั้งการรายงานผลการเรียน 3.2.5 ด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โดยการผลิตสื่อต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์กิจการของสถาบันการศึกษา และการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน

3.3 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะเครื่องมือทางวิชาการ
สถาบันการศึกษาใช้เทคโนโลยีการศึกษาใน 2 ลักษณะ คือ ยึดสื่อคนเป็นกลาง กับ ยึดสื่อสิ่งของเป็นหลัก
การยึดสื่อคนเป็นหลัก หมายถึง การให้ครู อาจารย์ เป็นแหล่งความรู้หลัก แล้วใช้สื่อสิ่งของเสริมการสอนของครู เป็นวิธีที่พบเห็นทั่วไปในสถาบันการศึกษาแบบปิดที่ใช้ระบบการเรียนการสอนแบบผู้เรียนกับผู้สอนเผชิญหน้ากัน
การยึดสื่อสิ่งของเป็นหลัก การใช้รูปแบบนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า การเรียนรู้อาจเกิดขึ้นได้โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้สอน แต่อาจเรียนได้จากสื่อประสมประเภทต่าง ๆ ในรูปของการศึกษาทางไกล โดยทั่วไปการใช้ในลักษณะนี้จะพบในมหาวิทยาลัยแบบเปิด ซึ่งมีการใช้อยู่ 3 ลักษณะ คือ
3.3.1 การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นแกน เสริมด้วยสื่อโสตทัศน์ (AV Media) รายการวิทยุ กระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ การสอนเสริม และสื่อโทรคมนาคม เป็นต้น เช่นที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและมหาวิทยาลัยเปิดแห่งอังกฤษ เป็นต้น
3.3.2 การใช้สื่อวิทยุหรือโทรทัศน์เป็นแกน โดยใช้วิทยุหรือโทรทัศน์เป็นสื่อ ใช้กันที่มหาวิทยาลัยทางอากาศของญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยทางโทรทัศน์ของประเทศจีน
3.3.3 การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์เป็นแกน เช่น ที่มหาวิทยาลัยเปิดในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในมหาวิทยาลัยแบบปิดทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยระบบที่เราเรียกว่า e - Learning

3.4 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะเครื่องมือบริการทางวิชาการ

หน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันการศึกษาก็คือ การบริการทางวิชาการ ให้แก่บุคลากรภายในและให้บริการแก่ชุมชน ในฐานะเครื่องมือสำหรับการบริการทางวิชาการ เทคโนโลยีการศึกษาจะช่วยเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษาหรืออยู่นอกระบบ โดยจัดในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อฝึกอบรม รายการทางวิทยุกระจายเสียง รายการโทรทัศน์ และวัสดุบันทึก และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะเก็บไว้เพื่อให้บริการในห้องสมุด สำนักวิทยบริการ ศูนย์วิชาการ ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ โดยผู้ใช้บริการสามารถค้นหาหรือยืมไปศึกษาที่เคหะสถานของตนเองได้
3.5 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการเรียน
ทรัพยากรการเรียน หมายถึง ทรัพยากรทุกชนิดที่ผู้เรียนสามารถใช้แบบเชิงเดี่ยวหรือแบบผสมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่ ข้อสนเทศ/ข่าวสาร บุคคล วัสดุ เครื่องมือ เทคนิค และอาคารสถานที่ 3.5.1 ข้อสนเทศ/ข่าวสาร คือข้อเท็จจริงที่ได้ประมวลและจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบพร้อมที่จะถ่ายทอดสู่บุคคลที่สนใจ 3.5.2 บุคคล (People) บุคลากรแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมและจัดระบบการเก็บข้อสนเทศและข่าวสาร กลุ่มที่สองคือคณะบุคคลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน และทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อสนเทศและข่าวสาร ซึ่งได้แก่ ครู นักการศึกษา นักวิชาการ 3.5.3 ผู้เชี่ยวชาญ คือบุคลากรที่เตรียมงาน ปรับปรุง ผลิต ดำเนินการประเมินผลและพัฒนา เพื่อให้การเรียนการสอนประสบผลสำเร็จ 3.5.4 วัสดุ ได้แก่ สิ่งของ จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) ประเภทที่บรรจุหรือบันทึกข่าวสารที่จะต้องถ่ายทอดด้วยเครื่องมืออื่น เช่น แผ่นเสียง ฟิล์มสตริป สไลด์ ภาพยนตร์ วิดีโอเทป ไมโครฟิลม์ ไมโครพิช ฯลฯ (2) ประเภทที่ตัวของมันเองสามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมืออื่น เช่น แผนที่ ลูกโลก หนังสือ ของจริง ของจำลอง ฯลฯ 3.5.5 เครื่องมือ คืออุปกรณ์ที่เป็นตัวถ่ายทอดข่าวสารที่บรรจุหรือบันทึกไว้ในวัสดุ ส่วนมากจะเป็นเครื่องกลไกไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บางอย่างก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเครื่องกลไกที่ใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกภาพ เครื่องฉายภาพทึบแสง กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องโทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ และอ่านไมโครฟิล์ม/ไมโครชิพ 3.5.6 เทคนิค เป็นกลวิธีในการถ่ายทอดข่าวสารหรือเสนอเนื้อหาวิชาความรู้ให้แก่ผู้เรียน ได้แก่
(1) เทคนิคทั่วไป (General technique) ได้แก่ เทคนิคการสอนแบบต่าง ๆ เช่น การสาธิต การสังเกต การอภิปราย การแสดงนาฏการ การบรรยาย การสาธิต การฝึกปฏิบัติการเรียน แบบแก้ปัญหาหรือแบบค้นพบ และแบบสอบสวนและสืบสวน การเรียนการสอนแบบโปรแกรม สถานการณ์จำลอง เกมต่าง ๆ การเรียนการสอนแบบโครงการ ฯลฯ (2) เทคนิคการใช้ทรัพยากร (Resource-based technique) ได้แก่ การศึกษานอกสถานที่ การใช้ทรัพยากรชุมชน การจัดห้องเรียน (3) เทคนิคการใช้วัสดุและเครื่องมือ ได้แก่ กลวิธีการใช้วัสดุและเครื่องมือในการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน เช่น ใช้โสตทัศนูปกรณ์ในการเรียนการสอน เทคนิคการใช้สื่อประสมเพื่อให้ผู้เรียนได้ความคิดรวบยอดที่กระจ่างจากตัวอย่าง หรือการแสดงด้วยสื่อหลายชนิด

3.6 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาในฐานะเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากร
ในการพัฒนาบุคลากร การอบรมเป็นวิธีการหนึ่งที่สถาบันการศึกษาและองค์การต่าง ๆ ใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะเครื่องมือในด้านการพัฒนาบุคลากร หน่วยงานที่จัดอบรมจะต้องรู้ว่าหัวข้อในการจัดอบรมได้แก่หัวข้ออะไร ส่วนผู้สอนก็จะต้องรู้ว่าในบรรดาเทคนิคการสอนต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่นั้นต้องใช้เทคนิคการสอนแบบใดจึงจะเหมาะสม และจะจัดสภาพแวดล้อมของห้องอบรมอย่างไร เช่น ระบบแสง ระบบเสียง ระบบควบคุมอุณหภูมิ จะจัดที่นั่งของผู้เข้าอบรมแบบไหน แบบวงกลม ครึ่งวงกลม สีเหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปตัว U หรือจัดเป็นกลุ่ม ๆ และจะใช้โสตทัศน์อุปกรณ์ประเภทไหน เช่น โปรเจคเตอร์ จอภาพ เครื่องเล่นเทป เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องฉายสไลด์

3.7 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาในฐานะเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้
ดังที่กล่าวแล้วว่า การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นได้จากการฟัง การอ่าน การเห็น และการสัมผัส ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาจึงสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ 5 วิธี คือ 3.7.1 นำหลักสูตรซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เร้าใจเข้าสู่ห้องเรียน นั่นคือ หลักสูตรจะเกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนโดยตรง นักเรียนจะค้นหาปัญหาของเขาเอง ทดสอบความคิด รับข้อมูลย้อนกลับ และทำงานร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ หรือฝึกหัดนอกห้องเรียน 3.7.2 จัดหาเครื่องมือซึ่งจะกระตุ้นการเรียนรู้ สนับสนุนการคิดและการแก้ปัญหา กำหนดรูปแบบของกิจกรรมและแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติ 3.7.3 ให้โอกาสแก่นักเรียนและครูมากขึ้นในการให้ข้อมูลย้อนกลับ รวมทั้งข้อมูลทั้งหลายที่นักเรียนประเมินเกี่ยวกับคุณภาพของความคิดและผลผลิตของเขา ให้โอกาสนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักวิทยาศาสตร์ รับข้อมูลย้อนกลับจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อนของเขา และผู้ที่มีประสบการณ์ในเชิงวิชาการในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องปรับปรุง 3.7.4 สร้างชุมชนวิชาการในท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ในชุมชนจะรวมทั้งครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง นักเรียน นักวิทยาศาสตร์ และคนอื่น ๆ ที่สนใจในชุมชน ขยายสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ให้ออกนอกกำแพงโรงเรียน 3.7.5 เพื่อขยายโอกาสสำหรับครู ซึ่งรวมถึงการช่วยครูให้คิดเกี่ยวกับผู้เรียนและ การเรียนรู้ที่แตกต่างออกไปเพื่อลดอุปสรรคระหว่างครูและนักเรียนในฐานะผู้เรียน เพื่อขยายชุมชนของผู้เรียนที่สนับสนุนการสื่อสารที่ดำเนินอยู่

3.8 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาในฐานะสนับสนุนการสอน
ในฐานะสนับสนุนการเรียนการสอน เทคโนโลยีการศึกษามีบทบาทอยู่ 2 ลักษณะ คือ
3.8.1 การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนในรูปของการฝึกปฏิบัติ ปัจจุบันมีซอฟท์แวร์จำนวนมากซึ่งทำงานในลักษณะให้คำแนะนำในการฝึกปฏิบัติแก่นักเรียน ตัวอย่างเช่น JURVSSIC SPELLING ซึ่งผลิตโดยบริษัท DAREWARE AND MOTES โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมที่ฝึกสะกดคำซึ่งจะมีเสียงเตือนทุกครั้งที่นักเรียนสะกดคำได้ถูกต้อง หลังจากนักเรียนสะกดคำถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว นักเรียนจะได้รับรางวัลเป็นรูปภาพไดโนเสาร์พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับไดโนเสาร์ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ โปรแกรม ANIMATED MULTIPLICATION AND DIVISION ซึ่งผลิตโดยบริษัท GUTHERY AND MEZA ลักษณะของการทำงานของโปรแกรมคือ เมื่อนักเรียนสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการคูณหรือการหารได้ถูกต้อง นักเรียนจะได้รับรางวัลโดยได้รับอนุญาตให้สร้างรูปภาพขึ้นมาแล้วโปรแกรมจะทำให้ภาพนั้นเคลื่อนไหว
3.8.2 การใช้โปรแกรมทำงานประหนึ่งเป็นติวเตอร์ (Tutor) โปรแกรมลักษณะนี้จะทำงานแบบทำคนเดียว นักเรียนจะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากวัสดุการสอนอื่น ๆ แต่จะเรียนรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในคอร์สแวร์ (Courseware) เท่านั้น โปรแกรมลักษณะนี้จำแนกได้ 2 ประเภท คือ ประเภททำงานแบบทางเดียว (Linear tutorials) และโปรแกรมที่ทำงานแบบมีทางเลือก (Branching tutorials) โปรแกรมทำงานแบบทางเดียวจะบังคับให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ เรียงไปตามลำดับ ส่วนโปรแกรมแบบมีทางเลือก ผู้เรียนจะทำกิจกรรมในทางเลือกที่เป็นผลจากการตอบคำถามของนักเรียน ตัวอย่างโปรแกรมแบบติวเตอร์ เช่น BRODERBUND’S WELCOME TO PHYSICS โปรแกรมนี้นักเรียนสามารถใช้เรียนคนเดียว สำหรับครูสามารถใช้โปรแกรมนี้เพื่อแนะนำเกี่ยวกับแนวคิด เพื่อสาธิตหรือเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การอภิปราย หรืออาจจะใช้เป็นการทบทวนเนื้อหา

หน่วยที่ 4

การสื่อสารและระบบเครือข่าย
4.1 การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาใช้ในการศึกษา

การศึกษาเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ จึงได้มีการพัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่องโดยการพัฒนาองค์ประกอบและวิธีการต่าง ๆ ทำให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัยและเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน สถานศึกษาทุกแห่งต่างก็ให้ความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการนำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเข้าไปใช้ในสถานศึกษา สถานศึกษาใดที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ก็จำเป็นต้องขวนขวายจัดหามา แต่การใช้ให้เกิดประโยชน์คุณค่านั้นจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้และมีวิธีบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงจะเกิดคุณค่าอย่างแท้จริงได้

4.2 องค์ประกอบของเทคโนโลยีการศึกษา

ปัจจุบัน ทุกคนตระหนักดีว่าคอมพิวเตอร์มิใช่เป็นเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องจัดหาองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านั้นมาใช้พร้อม ๆ กัน บริษัท IBM ได้ใช้หลักการ 4 C’s Components ในการประเมินความพร้อมของประเทศต่าง ๆ ในการให้บริการความรู้ด้วยระบบ e-Learning หลักการ 4 C’s Components ประกอบด้วย Connectivity, Content, Capacity building และ Culture องค์ประกอบทั้ง 4 นี้ สามารถใช้เป็นแนวทางในการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษาให้มีประสิทธิภาพได้ ดังนี้
4.2.1 Connectivity หมายถึง องค์ประกอบด้านเครื่องคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นองค์ประกอบที่นับได้ว่ามีการจัดหาดำเนินการมานานหลายปีแล้ว แต่เนื่องจากองค์ประกอบนี้มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงดำเนินการต่อเนื่องมานานหลายปี โดยมีการจัดทำแผนกำหนดเป้าหมายสัดส่วนคอมพิวเตอร์กับจำนวนนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ในปี งบประมาณ 2549 ได้มีแผนจัดซื้อคอมพิวเตอร์จำนวน 250,000 เครื่อง ให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้มีสัดส่วน นักเรียน 20 คน ต่อ คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนาเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเช่นเกาหลีใต้และมาเลเซีย จะมีสัดส่วนที่ นักเรียน 5 คน ต่อ คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เท่านั้น
การต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนประกอบขององค์ประกอบนี้ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตกำลังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดคุณค่าในการใช้เทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาการศึกษา การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารทางไกล ซึ่งมีหลายรูปแบบ จึงจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้

การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ
(1) การต่อเชื่อมด้วยสาย โดยใช้สายสื่อสารเชื่อมเข้าที่เครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งหมายความว่า จุดที่ตั้งของเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องมีสายสื่อสารเข้าไปถึง เช่น อาจจะเป็นสาย โทรศัพท์หรือสายอย่างอื่นที่ใช้เพื่อการนี้ รูปแบบการเชื่อมต่อแบบนี้ทำให้ท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งปรากฏว่าในปี 2549 ยังมีสถานศึกษาจำนวนนับหมื่นโรงที่ไม่มีสายสื่อสารเข้าไปถึง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบใช้สายนี้ยังแบ่งออกได้อีกหลายแบบ ได้แก่ การเชื่อมต่อด้วยสายโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งทำได้สะดวก มีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ได้ความเร็วในการสื่อสารต่ำประมาณ 56 Kbps ชุมสายโทรศัพท์ที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่จะสามารถใช้บริการเชื่อมต่อที่เรียกว่า ADSL หรือ broad band จะสามารถเพิ่มความเร็วได้สูงขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมี การต่อเชื่อมแบบกำหนดสายสื่อสารเฉพาะ ที่เรียกว่า Leased line ซึ่งจะมีความเร็วได้ตามที่กำหนดไว้
(2) การต่อเชื่อมแบบไร้สาย เป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่กำลังมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความสะดวก มีประสิทธิภาพสูง และยังลดค่า ใช้จ่ายได้มากกว่าการเชื่อมต่อด้วยสาย รวมทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพิ่ม เติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในอนาคตเหลือเพียงการเชื่อมต่อแบบไร้สายเท่านั้น เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายในปัจจุบันใช้ WiFi สำหรับการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตในระยะใกล้ มีรัศมีการเชื่อมต่อประมาณ 100 เมตร ซึ่งสามารถใช้ได้ดีสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในอาคารเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการต่อเชื่อมผ่านดาวเทียมทำให้สามารถเชื่อม ต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยการตั้งจานดาวเทียมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเมตรเศษก็สามารถสื่อสารทั้งอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ได้ สำหรับเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีการใช้อย่างกว้าง ขวางในเวลาต่อไปก็คือ WIMAX ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียม
4.2.2 Content หมายถึง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เพื่อการสื่อสารแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ Animation และภาพเคลื่อนไหว ซึ่งรวมถึงวิดีทัศน์ด้วย องค์ประกอบของ Content แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ การสร้าง การนำเสนอ และ การเข้าถึง
(1) การสร้าง (Create) หมายถึง การเขียนเนื้อหา รวบรวม ออกแบบ และจัดทำเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์
(2) การนำเสนอ (Offer) หมายถึง การจัดทำสื่อให้อยู่ในรูปแบบที่จะนำไปใช้งานได้ เช่น บันทึกลงในแผ่นซีดี (CD) หรือดีวีดี (DVD) บันทึกอยู่ในเว็บไซต์ ตลอดจนจัดเข้าอยู่ในระบบของ CMS (Content Management System)
(3) การเข้าถึง (Access) หมายถึง การที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงหรือนำสื่อไปใช้ได้ เช่น การดาวน์โหลด (Download) จากเว็บไซต์ การนำซีดีหรือดีวีดีไปติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ ตลอดจนการเรียนรู้วิธีการใช้สื่อต่าง ๆ ที่ต้องการเรียนรู้
ในการสร้างเนื้อหา สามารถรวบรวมจากส่วนย่อยซึ่งอาจเป็นข้อความหรือรูปภาพต่าง ๆ นำมารวมเข้าด้วยกันก็จะได้หัวข้อเรื่อง นำหัวข้อเรื่องต่าง ๆ มาต่อเข้าด้วยกันก็จะได้บทเรียนจนกระทั่งเป็นหน่วยการเรียนรู้ต่อไป
เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกอาจเรียกว่า เป็นเครื่องมือสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เหมาะที่จะใช้สร้างสื่อเฉพาะส่วน เช่น Word Processing, Flash, Dream และ Power Point เป็นต้น เครื่องมืออีกประเภทหนึ่งอาจเรียกว่าเป็นโปรแกรมสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้สร้างสื่อให้มีเนื้อหาเป็นเรื่องราวได้ ถ้าเป็นบทเรียนสามารถทำได้ทั้งบท เครื่องมือประเภทนี้มีทั้งชนิดที่สร้างบทเรียนเบื้องต้นง่าย ๆ ได้ และบางชนิดสามารถสร้างบทเรียนที่สลับซับซ้อนได้ด้วย โปรแกรมสร้างสื่อที่นิยมใช้กันในประเทศไทยมีมากมายตัวอย่างเช่น Flip Publisher, Tool book, Namo และ Elicitus เป็นต้น โปรแกรมเหล่านี้มักจะมีไดอะแกรมภาพตลอดจนวิดีโอคลิป (Video clip)ให้ด้วย ดังนั้นผู้เริ่มต้นสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์จึงมักจะใช้เครื่องมือเหล่านี้ และเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นและต้องการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะเฉพาะบางประการก็จะต้องใช้เครื่องมือสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในประเภทแรกด้วย จึงจะสามารถสร้างสื่อที่มีลักษณะตามความต้องการได้
ขั้นตอนการสร้างสื่ออาจเริ่มต้นด้วยการกำหนดเนื้อหาหรือบทเรียนที่ต้องการสร้างขึ้น โดยจัดทำและเรียบเรียงเนื้อหาให้มีความชัดเจนและครบถ้วน พร้อมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์ของสื่อที่จะสร้างขึ้น ต่อจากนั้น จะต้องออกแบบตามลักษณะของการนำไปใช้ซึ่งจะทำให้มีลักษณะการสร้างต่อไป แตกต่างกับสื่อที่ใช้เพื่อการเรียนรู้กับสื่อที่ครูจะใช้ประกอบการสอนจะมีวิธีการนำเสนอแตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดจึงต้องคำนึงด้วยว่าสื่อดังกล่าวได้ออกแบบไว้ในลักษณะใด ในส่วนของการออกแบบจะต้องจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจน สามารถนำไปเขียนคำสั่งคอมพิวเตอร์ให้นำเสนอสื่อได้ตามความต้องการ ขั้นตอนนี้จะเรียกว่า การเขียน Storyboard ซึ่งหากเขียนได้ชัดเจนมาก สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นมาก็จะมีลักษณะตามความต้องการของผู้ออกแบบ หากเขียนไม่ชัดเจน ผู้ออกแบบจะต้องเป็นผู้เขียนคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง มิเช่นนั้นสื่อที่ออกมาอาจจะไม่ได้คุณลักษณะที่ต้องการ ทำให้ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงมาก
การออกแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นขั้นตอนที่จำเป็น ต้องใช้ผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการนำเสนอความรู้ การออกแบบที่ดีจะทำให้ได้สื่อที่มีคุณลักษณะที่ดี ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ง่ายและน่าสนใจในการเรียนรู้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากขาดคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น สื่อที่ได้ก็จะไม่มีคุณค่า บางครั้งสร้างเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์เสร็จแล้วอาจจะสู้สื่อที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้


ทฤษฎีกรวยประสบการณ์ของเดล (Dale’s Cone of Experience) ได้แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ของมนุษย์มาจากการรับรู้อย่างไร (Witman & Meirhenry,1960) ดังแสดงให้เห็นจากไดอะแกรม
.
20%
30%
50%
70%
90%
10%
ได้ยิน
การอ่าน
การดู
การเรียนรู้ของมนุษย์
ได้ยินและการดู
ได้พูดและเขียน
ได้สอนและนำไปใช้
4.2.3 Capacity building หมายถึง การสร้างขีดความสามารถการเรียนรู้ของผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้กำกับนโยบาย ผู้บริหารหน่วยงาน ครูผู้สอน นักเรียน ตลอดจนถึงผู้สร้างสื่อและเจ้าหน้าที่ทางด้านเทคนิค ครูผู้สอนจำเป็นต้องมีทักษะที่จำเป็น 4 ด้าน คือ การใช้สื่อ ทักษะทางด้านเทคนิค การประสานความร่วมมือ และ การสร้างเครื่องช่วยกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งครูผู้สอนจะต้องมีหน้าที่หลักในการวิเคราะห์ผู้เรียน กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ การเลือกสื่อการเรียนรู้ การใช้ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต้องการความร่วมมือจากผู้เรียนและการประเมินผลครู จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพตามหน้าที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาครูให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ และโดยที่ครูมีจำนวนมากประกอบกับความเปลี่ยนแปลงในภารกิจหน้าที่ ทำให้ต้องมีการอบรมครูเป็นจำนวนมากเป็นเวลาที่ยาวนาน ดังนั้น การสร้างขีดความสามารถการเรียนรู้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าไปใช้ในการเรียนการสอนประสบความสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
4.2.4 Culture หมายถึง วัฒนธรรมในการเรียนการสอนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากการเรียนการสอนที่ครูพบกับนักเรียน และให้ความรู้ตามที่กำหนดไว้ในตารางเรียน ซึ่งมีเวลาที่ชัดเจนและจำกัด โดยครูเป็นผู้สอนให้ความรู้แก่นักเรียนไปตามขั้นตอนที่ครูเป็นผู้กำหนดทั้งหมด เมื่อใช้เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยที่นักเรียนจะต้องรับผิดชอบต่อบทเรียนด้วยตัวเองมากขึ้น นักเรียนจะสามารถเรียนรู้อย่างอิสระตามเวลาที่กำหนดขึ้นเอง รู้จักการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ตลอดจนการสังเคราะห์ความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันครูผู้สอนจะต้องจัดโปรแกรมให้นักเรียนแต่ละคนเรียนตามความสามารถและสนใจของแต่ละคนที่แตกต่างกัน จะต้องเข้าใจพฤติกรรมความแตกต่างระหว่างบุคคลมากขึ้น ตลอดจนยอมรับความแตกต่างเหล่านั้นและนำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่พึงประสงค์ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้าสู่เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานกลางให้ได้ ดังนั้น นวัตกรรมการเรียนการสอนจึงมีความแตกต่างจากเดิมมาก และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นจึงจะทำให้การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาเกิดผลดียิ่งขึ้น

องค์ประกอบทั้ง 4 ประการนี้ ต้องใช้ร่วมกันและต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน จึงจะสามารถใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาให้เกิดผลดีได้ หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งจะทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ เปรียบเสมือนรถยนต์ 4 ล้อ ที่ต้องมีล้อครบทั้ง 4 ล้อ จึงจะสามารถแล่นไปได้ หากขาดล้อใดล้อหนึ่งก็จะแล่นไม่ได้
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการศึกษาในสถานศึกษานั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของการพัฒนาประเทศ ทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการพัฒนาการศึกษา การถ่ายทอดความรู้และวิทยาการจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหลังจึงทำกันมาอย่างต่อเนื่อง และมีวิวัฒนาการมาโดยตลอด ในปัจจุบัน ทุกประเทศได้มีการลงทุนอย่างมากในการจัดการศึกษาให้แก่ประชากรของตน ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่ามีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการศึกษาให้เจริญก้าวหน้าขึ้น แต่โดยข้อจำกัดของวิธีการจัดการศึกษาและขีดความสามารถของการเพิ่มทรัพยากรทางการศึกษา ทำให้เกิดผลที่ยังไม่พึงพอใจในความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้น ประกอบกับอัตราเร่งของความเจริญก้าวหน้าทางด้านอื่น ๆ ทำให้ดูเหมือนว่าการศึกษายังล้าหลัง และทำให้เกิดความจำเป็นในการพัฒนาไปสู่การปฏิรูปการศึกษาโดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge based society) ที่ต้องใช้ข้อมูลและข่าวสารเป็นตัวเร่งในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมกับนานาประเทศ เทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นหนทางที่จะเข้ามาช่วยปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว จึงเกิดความตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาในทุกระดับการศึกษาโดยมุ่งเน้นเป้าหมายให้เกิดขึ้นที่ผู้เรียน ให้เรียนรู้ตามความสนใจและความสามารถ ให้เกิดความคิดและศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้โดยค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ด้วยกันในห้องเรียนเสมือน (Virtual classroom) และกำลังมุ่งสู่การเรียนรู้แบบ e-Learning ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตต่อไป



หน่วยที่ 5

นวัตกรรมกับการพัฒนาระบบสารสนเทศ
นับตั้งแต่มีการพัฒนาไมโครคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานในปี 2518 ต่อจากนั้นได้เกิดวิวัฒนาการองค์ประกอบต่าง ๆ ของไมโครคอมพิวเตอร์อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการประยุกต์นำไปใช้งานต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทางด้านการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ได้มีการประยุกต์นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ หลายด้านด้วยกัน โดยประยุกต์การใช้งานที่สำคัญ ดังนี้
1. ใช้ในการคำนวณ เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ ที่สร้างขึ้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านคำนวณก่อน โดยมีผู้ประดิษฐ์เครื่องคำนวณในยุคแรก ๆ หลายแบบด้วยกัน ได้แก่
· Blaise Pascal ประดิษฐ์เครื่องคำนวณที่ใช้เฟืองเป็นคนแรก ในปี พ.ศ. 2385
· Gottfried Von Leibnitz ประดิษฐ์เครื่องคำนวณที่เรียกกันว่า Leibnitz ซึ่งใช้ระบบกลไกและเป็นต้นแบบของเครื่องคิดเลข ในปี พ.ศ. 2453
· การคิดค้นประดิษฐ์เครื่องคำนวณได้วิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการสร้างเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในโลก พ.ศ. 2488
· มีเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า Personnel Computer เกิดขึ้นเป็นเครื่องแรก คือเครื่อง Apple II พ.ศ. 2520
· บริษัท IBM สร้างเครื่อง Personal Computer ขึ้น และวิวัฒนาการเป็นต้นแบบของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ก็แพร่หลายไปทั่วโลก ที่เรียกกันว่า IBM Computer Microcomputer พ.ศ. 2524
การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในยุคแรกนั้นจะใช้ในการคำนวณเป็นส่วนใหญ่ โดยเขียนโปรแกรมคำสั่งให้คอมพิวเตอร์คำนวณตามฟังก์ชั่นที่กำหนด เช่น การนับจำนวนประชากร การหาค่าเฉลี่ยต่าง ๆ เช่น อายุ ความสูง รายได้ของประชากร คอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในระยะแรก ๆ จึงนำเข้ามาใช้เพื่อการสำมะโนประชากร และต่อมาก็นำไปใช้ในการจัดทำบัญชีซึ่งมีการคำนวณตัวเลขจำนวนมาก และเริ่มเข้าไปใช้ในการคำนวณทางวิศวกรรม
2. ใช้เก็บข้อมูลและคำนวณควบคู่กัน เกิดจากวิวัฒนาการในความสามารถสร้างสื่อเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้น เช่น เทปเก็บข้อมูล จานแม่เหล็กเก็บข้อมูล และดิสเก็ต (Diskette) ที่มีขนาดเล็กลง แต่สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้นและมีราคาต่ำลง

Diskette ที่ใช้เก็บข้อมูลในสมัยแรกมีขนาด 8 นิ้ว ต่อมาได้ลดขนาดลงเป็น 5.25 นิ้ว และ 3.5 นิ้ว ตามลำดับ แต่สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ในปัจจุบันได้วิวัฒนาการเป็นแผ่น CD และ DVD ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 10 GB ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ Diskette 5.25 นิ้ว ที่มีขนาดใกล้เคียงกันแต่เก็บข้อมูลได้เพียง 360 KB จะเห็นว่าเก็บข้อมูลได้แตกต่างกันมาก โดยมีหน่วยข้อมูล ดังนี้
8 bit = 1B (Byte) = 1 ตัวอักษร
1024 B = 1 KB (Kilo Byte)
1024 KB = 1 MB (Mega Byte)
1024 MB = 1 GB (Giga Byte)
3. ใช้ทำงานในสำนักงานทั่วไป เป็นวิวัฒนาการสำคัญโดยการสร้างโปรแกรมชุดคำสั่งงานคอมพิวเตอร์ เป็นโปรแกรมคำสั่งงานที่มีขนาดใหญ่และสามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้นด้วยวิวัฒนาการสำคัญที่ควรกล่าวถึงก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลคำ (Word processing) และขณะเดียวกันก็มีการสร้างโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูลและคำนวณผลเบื้องต้นได้ จึงเกิดเป็นโปรแกรมตารางทำงาน ( Work sheet) ทำให้คอมพิวเตอร์ถูกนำไปใช้งานต่าง ๆ ในสำนักงานได้อย่างกว้างขวาง
4. ใช้ในงานกราฟิกและภาพเคลื่อนไหว เป็นวิวัฒนาการต่อมาในปี พ.ศ. 2527 คือ การก้าวไปสู่การใช้คอมพิวเตอร์ในงานกราฟิก รูป และภาพเคลื่อนไหว เป็นการก้าวไปสู่ยุคสื่อผสม (Multimedia) ซึ่งต้องมีสื่อเก็บข้อมูลขนาดใหญ่และมีความเร็วสูงในการประมวลผลข้อมูล วิวัฒนาการช่วงนี้ใช้เวลานานประมาณ 10 ปี จึงทำให้การเก็บและประมวลผลข้อมูลสื่อผสมสามารถใช้ได้เหมาะสมกับความต้องการ
5. ใช้ในการสื่อสาร เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ และการสื่อสารทางไกลร่วมกัน เกิดเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Telecommunication Technology) ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต (Internet) ในปี พ.ศ. 2512 โดยเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั่วโลก โดยผ่านช่องทางสื่อสารที่มีใช้กันอยู่แล้วทั้งโทรศัพท์และเคเบิ้ลที่เชื่อมต่อกันในการใช้งานต่าง ๆ การใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ต่อมามีการขยายตัวรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปัจจุบันประมาณกันว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกถึง 801.4 ล้านคน (www.glreach.com)
นวัตกรรมอินเทอร์เน็ตเกิดจากความต้องการสื่อสารของทหารที่ต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารระหว่างเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ที่มีระบบต่างกัน กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ให้ทุน DAPRA (Defense Advanced Research Project) โดยมี Dr. J.C.R. Licklider เป็นหัวหน้าโครงการได้ทดลองสร้างเครือข่าย ARPANET (Advanced Research Projects Agency Network) และพัฒนาเป็นอินเทอร์เน็ต โดยใช้มาตรฐานการรับส่งข้อมูลที่เรียกว่า Network Control Protocol (NCP) และต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้เปลี่ยนเป็นมาตรฐานใหม่ที่เรียกว่า Transmission Control Protocol / Internet Protocol (TCP/IP) ทำให้คอมพิวเตอร์ต่างชนิดกันสามารถสื่อสารกันได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องสามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันได้ และขยายออกไปอย่างไม่มีขอบเขต ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ต่อเชื่อมกันเหมือนใยแมงมุมที่เรียกว่า World Wide Web หรือ WWW. โดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อเชื่อมกันผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ และวิวัฒนาการต่อมาในปัจจุบันจนสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยไม่ต้องใช้สายโทรศัพท์ เรียกว่า Wireless Internet หรือ WiFi ซึ่งมีรัศมีกระจายคลื่นประมาณ 100 เมตร ในอนาคตอันใกล้กำลังเกิดเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า WiMAX มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 เท่า ซึ่งจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ ณ จุดที่ห่างไกลประมาณ 20 ไมล์ สามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้
6. การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญในปัจจุบัน มีมากมาย ที่สำคัญควรจะได้ทำความเข้าใจได้แก่ สื่อมัลติมีเดีย, Digital Content, e-Library และ e-Learning
6.1 สื่อมัลติมีเดีย หมายถึง สื่อที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งประกอบด้วย ตัวเลข ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง โดยอาจรวมเอาการตอบโต้กับผู้ใช้ได้ด้วย สื่อมัลติมีเดียสามารถสื่อสารผ่านประสาทสัมผัสได้หลายทางพร้อม ๆ กัน สามารถสร้างความเข้าใจได้ดีขึ้นกว่าสื่อที่เป็นเอกสาร
6.2 Digital Content หมายถึง สื่อที่สามารถใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์และมีเนื้อหาครอบคลุมวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ เราสามารถแบ่ง Digital Content ออกได้ 3 ระดับ คือ Media, Topics, และ Curriculum (Horton, 2004)
ภาพที่ 2 : แสดงนวัตกรรมประเภท Digital Content

Media แต่ละชิ้นสามารถเก็บไว้เสมือนเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง สามารถมาต่อกันให้มีขนาดใหญ่และมีองค์ประกอบหลาย ๆ ส่วนที่มาช่วยทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น การสร้าง Digital Content จาก Media ขนาดเล็กยังช่วยให้เกิดความสะดวกในการสร้างเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและรวดเร็ว สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยและถูกต้องตามกาลเวลาได้ง่าย
ADB (2004) แบ่ง Digital Content ออกเป็น 5 ประเภทตามวัตถุประสงค์ของการใช้ คือการฝึก การทบทวน การเล่นเกม การจำลองสถานการณ์ และ สื่อมัลติมีเดีย สื่อแต่ละประเภทจะช่วยให้ผู้เรียนได้สำรวจและค้นพบตัวเองด้านความถนัดในการเรียนรู้แบบต่าง ๆ และช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่สร้างความคิด การสำรวจ และสร้างสถานการณ์จำลองในการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
6.3 E-Library เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลและความรู้ที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีระบบ CMS (Content Management System) เป็นตัวจัดการ เพื่อให้ข้อมูลและความรู้ถูกเก็บอย่างเป็นระบบ สามารถค้นหาและนำมาใช้ได้อย่างสะดวก e-Library เป็นสิ่งจำเป็นในการรวบรวมความรู้เพื่อใช้ในงานต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญต่อไป การค้นหาข้อมูลและความรู้ที่จัดเก็บไว้อาจจะใช้หลายรูปแบบ เช่น การเลือกหัวข้อเรื่อง และดูทั้งหมดตามลำดับที่เก็บรวบรวมไว้หรือค้นหาจากคำหรือใจความที่จัดเก็บก็ได้ การจัดเก็บกับการค้นหาจึงต้องทำควบคู่กันไป
6.4 E-Learning เป็นรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา มีผู้ให้นิยามความหมายของ e-Learning ไว้มากมาย อาทิ
· Quah (ADB, 2004) ให้ความหมายว่า e-Learning เป็นทั้งการเรียนรู้เพิ่ม เติมและการเรียนรู้ประกอบ สามารถเรียนได้เป็นอิสระจากเวลาที่กำหนด สามารถใช้ในการเรียนรู้ของคนปริมาณมากโดยไม่จำกัดสถานที่ ทำให้บทบาทของผู้สอนและผู้เรียนเปลี่ยนแปลงไป ผู้สอนทำหน้าที่เหมือนผู้ดูแล แนะนำ จัดการ ติดตามผู้เรียน และสร้างสื่อการเรียนรู้ ในขณะที่ผู้เรียนแสดงบทบาทเป็นผู้เสาะแสวงหา สังเกต วิจัย วิเคราะห์ และแก้ปัญหา
· Microsoft (2004) ให้ความหมายของ e-Learning โดยเปรียบเทียบกับการศึกษาทางไกลและการศึกษาปกติ การสร้างประสบการณ์เรียนรู้จากจุดที่อยู่ห่างไกล โดยผู้สอนและผู้เรียน
แยกจากกันด้วยเวลาหรือสถานที่
การสร้างประสบการณ์เรียนรู้ด้วยการใช้
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางไกล
การสร้างประสบการณ์เรียนรู้ด้วยการใช้เวลาเดียวกันร่วมกัน (use of real time collaboration)

การศึกษาทางไกล
E-Learning
การศึกษาปกติ

สุรสิทธิ์ วรรณไกรโรจน์ (25 ) ให้คำจำกัดความ e-Learning ว่า เป็นการเรียนรู้แบบออนไลน์ (On – line) ซึ่งอาจจะผ่านอินเทอร์เน็ตหรืออินทราเน็ต (Intranet) เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตนเอง โดยเนื้อหาของบทเรียนซึ่งประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ และมัลติมีเดียอื่น ๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web browser โดยผู้สอน ผู้เรียน และผู้เข้าร่วมชั้นเรียน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย (เช่น e-mail, web-board, chat) จึงเป็นการเรียนสำหรับทุกคน เรียนได้ทุกเวลา และทุกสถานที่

จากความหมายของ e-Learning ดังกล่าวข้างต้น อาจสรุปได้ว่า e-Learning เป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีหลายอย่างผสมและประสานกัน เพื่อช่วยให้การเรียนรู้สามารถทำได้อย่างสะดวกและเรียนได้ตามความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างแท้จริง การเรียนรู้จะไม่ถูกจำกัดเฉพาะเวลาที่ผู้สอนมีเวลาว่างเท่านั้น และจะไม่ถูกจำกัดเฉพาะอยู่ในห้องเรียนหรือในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่การเรียนรู้จะสามารถทำได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ขึ้นอยู่กับผู้เรียนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น


การจัดทำระบบการเรียนรู้ e - Learning จะประกอบด้วยโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ ระบบงานที่สำคัญที่เรียกว่า LMS (Learning Management System) ซึ่งจะทำหน้าที่สำคัญ 4 ประการ คือ
6.4.1 จัดระบบเนื้อหาการเรียนที่เรียกว่า CMS (Content Management System) ทำหน้าที่จัดระบบการเก็บรวบรวมเนื้อหาบทเรียน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้ผู้สอนในการจัดเนื้อหาที่เหมาะสมให้กับผู้เรียนแต่ละคน
6.4.2 จัดระบบผู้เรียน ซึ่งประกอบด้วยการลงทะเบียนผู้เข้าเรียน การควบคุมให้ผู้เรียนได้เรียนตามที่กำหนด การอนุญาตให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้ตามความต้องการในขอบเขตที่กำหนดไว้
6.4.3 รายงานผลการเข้าเรียนและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามความต้องการที่กำหนดไว้ เช่น มีบทเรียนอะไรบ้าง มีผู้สอนแต่ละบทเรียนกี่คน มีผู้เรียนในแต่ละบทเรียนกี่คน ผลการเรียนของผู้เรียนเป็นรายคน ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประเมินผลการเรียนของผู้เรียนแต่ละคนได้
6.4.4 การสื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งอาจจะสื่อสารกันแบบ Real time หรือเป็นข้อความที่สามารถโต้ตอบกันและเข้ามาดูภายหลังได้ ผู้เรียนมีข้อสงสัยประการใดก็ตั้งคำถามฝากไว้ ผู้สอนสามารถตอบคำถามในแต่ละช่วงเวลาจากคำถามที่รวบรวมไว้ทั้งหมดโดยตอบคำถามของแต่ละคน คำตอบเหล่านั้นจะกลับไปอยู่ในที่ซึ่งผู้ถามสามารถเรียกมาดูได้
ระบบจัดการเรียนรู้ LMS มีผู้สร้างขึ้นหลายอย่าง มีทั้งระบบที่ไม่ซับซ้อนและระบบที่สมบูรณ์สามารถใช้งานได้อย่างซับซ้อน ผู้ใช้จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของหน่วยงาน หรือสถานศึกษา เพื่อให้สามารถใช้ได้ตรงตามสภาพการเรียนการสอน ซึ่งแต่ละสถาบันการศึกษาจะแตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาและทดลองใช้ก่อนการนำไปใช้จริง ซึ่งจะช่วยให้การใช้ e-Learning ในสถานศึกษาสามารถดำเนินการไปได้ดี และทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถปรับตัวและใช้ได้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการของนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ถูกนำไปใช้ในการศึกษาควบคู่ไปกับการนำไปใช้ด้านอื่น ๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องกัน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาวิเคราะห์และปรับตัวให้วิวัฒนาการควบคู่กันไปกับนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดผลดีในส่วนที่ต้องการพัฒนา ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันและหาทางแก้ไขในส่วนที่เป็นผลกระทบในด้านไม่พึงประสงค์ ตลอดจนการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าในด้านที่ช่วยให้เกิดผลดี ได้แก่ การทำงานได้รวดเร็ว ทำงานได้ยาวนานต่อเนื่องกัน และทำงานได้โดยไม่ผิดพลาด ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในงานที่มีความต้องการในลักษณะดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็มีส่วนที่เกิดผลเสีย ที่เห็นได้ชัดก็คือด้านค่าใช้จ่ายซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เสียเงินตราออกนอกประเทศ นอกจาก นั้น ยังมีการนำไปใช้ในด้านที่ไม่เกิดประโยชน์และการนำไปใช้ในทางที่ผิดทั้งที่รู้และไม่รู้เท่าทัน เช่น การพนัน การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงจำเป็นที่ทุกคนต้องเรียนรู้และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้คุณค่าที่แท้จริงต่อไป

หน่วยที่ 6

การบริหารระบบสารสนเทศในองค์กร
ความพร้อมของบุคลากรในสถานศึกษา

ครูเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในการที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากครูต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง โรงเรียนที่มีครูอายุค่อนข้างสูงส่วนมากจะมีปัญหา เพราะครูกลุ่มนี้จะไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้าจะให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจทำให้ครูบางคนไม่ชอบหรือบางคนอาจจะปฏิเสธไปเลย และหากจะให้ครูเหล่านี้ไปอบรมคอมพิวเตอร์ครูก็จะไม่ค่อยอยากไปโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น แก่แล้วสายตาไม่ดี มีภาระด้านครอบครัว กำลังจะลาออกแล้ว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไปใช้ในโรงเรียนที่มีครูอายุมาก ๆ จึงค่อนข้างจะมีปัญหา บางครั้งเทคโนโลยีอาจจะไปสร้างปัญหาให้แก่ครูแทนที่จะไปแก้ปัญหาและช่วยพัฒนางาน
สำหรับโรงเรียนที่ครูมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 45 ปี ครูกลุ่มนี้จะเป็นครูที่ผ่านสถาบันการศึกษาที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาแล้ว ดังนั้น จึงพร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพียงแต่ขาดการสนับสนุนเท่านั้น หากสถานศึกษาให้การสนับสนุน พวกเขาก็พร้อมที่จะทุ่มเท จึงมักพบเสมอว่าครูบางคนลงทุนไปซื้อหาอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีด้วยเงินทุนส่วนตัว เพื่อนำอุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้ในการสอนนักเรียนหรือใช้ทำงานอย่างอื่นเกี่ยวกับกิจกรรมของโรงเรียน ดังนั้น การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในโรงเรียนที่ครูมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างต่ำจึงไม่ค่อยมีปัญหา

1. หลักสูตร

สถานศึกษาซึ่งสอนระดับอนุบาลและประถมศึกษา นักเรียนส่วนมากยังไม่สามารถคิดในสิ่งที่เป็นนามธรรม ครูผู้สอนจึงต้องช่วยให้เด็กสามารถคิดโดยนำเสนอในสิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดี นวัตกรรมทางด้านสื่อการสอนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สื่อที่นักเรียนจับต้องได้หรือสามารถทำด้วยตนเองจะช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น อาจใช้คอมพิวเตอร์เพื่อให้นักเรียนเรียนศิลปะโดยการหัดวาดรูป หรือให้ออกเสียงในการเรียนภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศในกรณีที่นักเรียนอ่านหนังสือออกแล้ว นอกจากนี้ นักเรียนยังสามารถค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อทำงานส่งครูหรือสามารถใช้ซอฟท์แวร์บางตัวในการฝึกประสบการณ์เพิ่มจากชั้นเรียนได้
สำหรับสถานศึกษาที่สอนในระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากเด็กวัยนี้กำลังอยากรู้อยากเห็นและอยากพิสูจน์ความสามารถของตนเอง การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะเป็นการเสริมประสบการณ์ที่ดียิ่ง อินเทอร์เน็ตที่นำมาใช้ในโรงเรียนจะช่วยให้นักเรียนค้นหาความรู้เพิ่มเติมทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนและสิ่งที่เขาอยากรู้เองได้ อินเทอร์เน็ตส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่ม ระบบ e - Learning จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่พวกเขายังไม่เข้าใจขณะที่เรียนในห้องเรียนเพิ่มขึ้น บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer- Assisted Instruction : CAI) จึงสามารถช่วยนักเรียนได้ทั้งในการเรียนเนื้อหาใหม่ ทบทวนเนื้อหาเดิมที่เรียนแล้วแต่ยังไม่เข้าใจ ช่วยให้เรียนรู้และเข้าใจสื่อที่เป็นนามธรรมได้มากขึ้น
สถานศึกษาที่สอนหลักสูตรปริญญาตรีหรือสูงกว่า นักศึกษาในวัยนี้เป็นวัยที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ และสังคมในมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มจะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่นักศึกษาจะต้องฝึกฝนและเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เรียนวิชาชีพครูจะต้องเรียนรู้นวัตกรรมด้านการสอนและด้านสื่อการศึกษา เช่น นักศึกษาที่เรียนวิชาเอกเคมี จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีของเครื่องมือสมัยใหม่ การนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในระดับมหาวิทยาลัยจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง เพราะทำให้นักศึกษาได้ค้นหาในสิ่งที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต ได้ค้นหาความรู้บางอย่างเสริมในสิ่งที่อาจารย์สอนแล้วแต่ยังไม่เข้าใจ รวมทั้งได้ค้นหาความรู้บางเรื่องที่อาจารย์กำหนดให้ศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลก
การสอนสิ่งที่เป็นนามธรรมให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใดนัก เพราะผู้สอนสามารถให้นักศึกษาเรียนรู้จากบทเรียน CAI ได้ เนื่องจากการเรียนรู้บางอย่างอาจเป็นอันตรายได้ถ้าลงมือปฏิบัติจริง หรือบางอย่างนักศึกษาก็ไม่สามารถปฏิบัติได้กับของจริง ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่เรียนวิชาเคมี ย่อมไม่สามารถทำการทดลองบางอย่างที่มีอันตรายและมีความสิ้นเปลืองได้ หรือนักศึกษาแพทย์ที่ไม่สามารถจะเรียนรู้เส้นเลือดของมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหนังทั้งร่างกายได้ เป็นต้น
ในด้านการบริหาร ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งกำลังขาดบุคลากรอันเนื่อง มาจากนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการลดกำลังคน การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพได้ ตัวอย่างเช่นงานทะเบียนและวัดผล เมื่อใช้คอมพิวเตอร์ในการคิดเกรดจะทำให้ลดภาระของอาจารย์และทำให้นักศึกษาได้ทราบผลการเรียนเร็วขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานห้องสมุดก็จะทำให้ลดเวลาเกี่ยวกับการทำบัตรรายการและบริการการค้นหา

2 นโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด

สถานศึกษาทุกแห่งไม่ว่าจะทำการสอนในระดับใด จะต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล แต่การตอบสนองนโยบายนั้นจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความพร้อมภายในสถานศึกษา ถ้าสถานศึกษาไม่มีความพร้อมก็ไม่สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลได้ เช่น กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนใช้อินเทอร์เน็ต แต่โทรศัพท์ยังเข้ามาไม่ถึง หรือโรงเรียนไม่มีงบประมาณที่จะติดจานดาวเทียม เป็นต้น

3. การสนับสนุนจากผู้บริหารสถานศึกษา

อำนาจในการบริหารโรงเรียนส่วนมากอยู่ที่ผู้อำนวยการหรืออาจารย์ใหญ่ แต่ในสถาบัน อุดมศึกษาผู้มีอำนาจสูงสุด ได้แก่ อธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัย ถ้าผู้บริหารเป็นผู้ที่ไม่สนใจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแล้วการดำเนินการก็จะไม่ราบรื่น สถานศึกษาที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องจัดทำแผนพัฒนาเทคโนโลยีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ในการจัดทำแผน ต้องให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงเรียน ในการกำหนดวิสัยทัศน์ ทั้งครู ผู้ปกครอง และผู้บริหาร ต้องร่วมกันคิด เมื่อได้วิสัยทัศน์แล้วการทำแผนก็จะต้องนำไปสู่วิสัยทัศน์นั้น แผนจะเป็นตัวกำหนดว่าโรงเรียนจะพัฒนาไปในทิศทางใด
เมื่อพิจารณาปัจจัยสภาพแวดล้อมแล้ว ขั้นต่อไปสถานศึกษาจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เหมาะสมกับสภาพที่เป็นอยู่ ความไม่พร้อมของปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนจะยกเลิกการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ทั้งหมด แต่โรงเรียนจะต้องพยายามทำทุกวิถีทางที่จะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้ได้
การใช้เทคโนโลยีในการสอนปัจจุบันมีมากมายหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีกลยุทธ์ในการสอนที่แตกต่างกัน ในตอนแรกนี้จะได้อภิปรายถึงเทคนิคต่าง ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอน

4. การใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนการสอน

สถานศึกษาสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการจัดการเรียนการสอนได้ ทั้งในชั้นเรียนปกติและการศึกษาทางไกล ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียน ดังนี้
4.1 การสอนในชั้นเรียนปกติ จะเป็นการใช้สอนโดยตรง หรือเป็นการใช้สอนเสริมการสอนระบบปกติ โดยการทบทวนเนื้อหาจากบทเรียนที่ผู้สอนสร้างไว้ในเว็บไซต์ หรือผู้สอนอาจงานให้ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ จากการพูดคุยระหว่างผู้เรียนในห้องสนทนา (Chat room) จากการเรียนโดยการใช้ e-mail เป็นต้น แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อ
(1) ส่งเสริมการเชื่อมต่อสื่อสารกับโลกภายนอก อินเทอร์เน็ตทำให้โลกแคบลง ไม่ว่าคนจะไปอยู่ส่วนไหนของโลกก็สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวและประสบการณ์ต่าง ๆ กับโลกภายนอกได้แม้จะต่างเวลา สถานที่ และวัฒนธรรมห้องเรียน ครูสมัยก่อนสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้เหมือนกันแต่จะมีปัญหาเรื่องเวลาและสถานที่ ปัจจุบันนี้ อินเทอร์เน็ตทำให้ครูและนักเรียนสามารถติดต่อหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเรียนหรือครูที่อยู่ในส่วนอื่น ๆ ของโลกได้โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องเวลา สถานที่ และวัฒนธรรม
(2) ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ปัจจุบัน นักวิจัยทางการศึกษา ครู และผู้กำหนดนโยบายเชื่อว่านักเรียนเรียนรู้โดยผ่านการปฏิสัมพันธ์สังคม (Social interaction) ดังนั้น สถานศึกษาจึงควรให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันโดยให้ทำงานเป็นทีม ซึ่งอาจให้จับคู่กันเป็นทีมตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป หรือมากกว่าก็ได้ แล้วให้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ จากอินเทอร์เน็ต โรงเรียนสามารถนำรายงานหรือผลงานที่นักเรียนสร้างขึ้นไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
(3) ส่งเสริมการทำความเข้าใจในเนื้อหาที่ยากแก่การมองเห็น ตัวแบบ (Model) เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สำหรับรายวิชาต่าง ๆ ในระดับต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ตัวแบบทำให้นักเรียนมองเห็นแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อย่างมีความหมาย ตัวอย่างเช่น ตัวแบบเกี่ยวกับการเกาะยึดระหว่างโมเลกุลของสารที่นักเรียนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แต่คอมพิวเตอร์จะสามารถจำลองตัวแบบการเกาะยึดระหว่างโมเลกุลให้นักเรียนมองเห็นภาพได้ หรือในทางการแพทย์ สามารถจำลองตัวแบบการไหลเวียนของโลหิตภายในร่างกายออกมาให้เห็นได้เนื่องจากนักศึกษาแพทย์ไม่สามารถที่จะเห็นของจริงได้จากการค้นคว้า นอกจากนี้ในการเปลี่ยน แปลงของอากาศก็สามารถทำตัวแบบออกมาให้เห็นได้เช่นเดียวกัน
การใช้ตัวแบบมีข้อดีคือทำให้นักเรียนเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เพราะตัวแบบจะทำให้นักเรียนสามารถมองเห็นได้หลายแง่หลายมุม ซึ่งถ้าเทียบกับการใช้อุปกรณ์แบบเก่า ๆ แล้วจะแตกต่างกันมาก และบางเรื่องในบางวิชาหากจะใช้วิธีการแบบเก่า ๆ มาทำก็ไม่สามารถจะทำได้ นอกจากนี้ เว็บจะมีแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จำนวนมากที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างและแสดงผลที่นักเรียนสามารถจะเรียกออกมาดูได้ในชั้นเรียนหรือที่บ้าน
(4) ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย ก่อนที่จะมีการใช้อินเทอร์เน็ต กระบวนการค้นคว้าวิจัยซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันอยู่โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับงานห้องสมุด ครูและนักเรียนสามารถใช้บัตรหัวเรื่อง หรือชื่อเรื่อง หรืออื่น ๆ ที่ห้องสมุดใช้ ในการค้นหาข้อมูลไม่ว่าจะเป็นระบบ Dewey หรือ Library Congress แต่เมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งข้อมูลมหาศาลที่ช่วยทำให้นักวิจัยซึ่งเคยใช้วิธีการเดิมในห้องเรียนสามารถลดเวลาในการค้นคว้าได้มาก ทั้งนี้เพราะมีเครื่องมือใหม่ ๆ ในการค้นหาข้อมูลเพิ่มขึ้น นอกจากข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว ยังมีกลุ่มอภิปรายในเรื่องต่าง ๆ อีกมาก ถ้านักวิจัยมีความสนใจในเรื่องใดก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มนั้นได้ ปัญหาในการค้นคว้าของนักวิจัยที่เกิดขึ้นก็คือการเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการค้นหา
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ตก็คือ สามารถนำไปใช้เพื่อการนำเสนอผลของการวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยออกไปให้แพร่หลายหลังจากการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เดิมก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตนั้นทำได้ยากเพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบัน การนำเสนอผลของการวิจัยสามารถทำได้ง่ายมากและเสียค่าใช้จ่ายน้อย
นอกจากการใช้อินเทอร์เน็ตในฐานะเป็นแหล่งข้อมูลแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้อีกด้วย ซึ่งมีวิธีการง่าย ๆ คือ หลังจากที่ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามเสร็จเรียบร้อยแล้วก็สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อนำคำถามเหล่านั้นไปวางไว้ในอินเทอร์เน็ต แล้วให้ผู้ตอบตอบแบบสอบถามเหล่านั้นทางอินเทอร์เน็ตได้เลย ลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบนี้ปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้กันมากโดยเฉพาะการวิจัยทางด้านการตลาด
(5) ส่งเสริมการทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ การไปทัศนศึกษาเป็นวิธีหนึ่งที่ครูสามารถนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนในเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่โดยปกติแล้ว การไปทัศนศึกษามีข้อจำกัดคือ ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ยากต่อการควบคุมนักเรียนหากกลุ่มนักเรียนที่ไปทัศนศึกษามีจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทาง และหากสถานที่ที่จะไปทัศนศึกษานั้นอยู่ห่างไกลจากบ้านของนักเรียนมาก เช่น อยู่ในต่างประเทศก็จะยิ่งทำให้การเดินทางไปทัศนศึกษามีความยากลำบากมากขึ้น
แต่ด้วยความสามารถของอินเทอร์เน็ต โรงเรียนสามารถให้นักเรียนไปทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ การทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ การศึกษาที่นักเรียนและครูกระทำผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยการใช้คอมพิวเตอร์ ข้อมูลทั้งหลายที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ หรือประกาศต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลทางธุรกิจในท้องถิ่น จะถูกเรียกขึ้นมาแสดงบนจอภาพเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา พร้อมไปกับการอธิบายเพิ่มเติมของครู
การทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ มีลักษณะหลายอย่างเช่นเดียวกับการไป ทัศนศึกษาปกติ แต่มีข้อดีกว่าคือนักเรียนสามารถที่จะศึกษาข้อมูลบางอย่างได้ซึ่งถ้าให้นักเรียนไปทัศนศึกษาปกติจะไม่สามารถศึกษาได้ ในการสอนโดยการใช้ทัศนศึกษาอิเล็กทรอนิกส์นั้น ครูต้องมีการวางแผนการสอนล่วงหน้าว่าจะให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องใด และจะติดตามผลโดยวิธีใดหลังจากทัศนศึกษาแล้ว
การใช้วิธีทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยทำให้นักเรียนมีโอกาสติดต่อกันในลักษณะเผชิญหน้าผ่านจอภาพกับบุคคลในสถานการณ์จริง ๆ ได้ โดยใช้ระบบ Video-conference โดยเครื่องมือนี้นักเรียนสามารถที่จะพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ ได้ทั่วโลก
ข้อได้เปรียบของการทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์อีกประการหนึ่งก็คือ ครูและนักเรียนไม่ต้องพะวงเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น อากาศ การเดินทาง ข้อจำกัดของการทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคอมพิวเตอร์และความเร็วในการสื่อสารข้อมูล รวมถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์อื่น ๆ
(6) ส่งเสริมการเผยแพร่ผลงาน การเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บสามารถทำได้ง่ายมากเพียงแต่ครูและนักเรียนฝึกการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่จะนำเสนอข้อมูลบนเว็บเท่านั้น ซึ่งก็ทำได้ไม่ยาก ปัจจุบัน ครูในประเทศไทยเริ่มใช้เว็บเป็นสื่อในการเผยแพร่ผลงานของนักเรียนมากขึ้น เพราะนอกจากจะทำได้ง่ายและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากระบวนการเผยแพร่งานในระบบปกติแล้วยังสามารถได้รับข้อมูลย้อนกลับจากผู้ค้นคว้าอีกด้วย
สิ่งที่ต้องระวังในการเผยแพร่งานก็คือ จะต้องมีการควบคุมอย่างรัดกุม โดยจัดให้มีผู้ควบคุมซึ่งอาจจะเป็นครู หรือคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักเรียนและให้ครูเป็นที่ปรึกษา สิ่งที่ต้องควบคุมได้แก่ การดูแลรูปแบบของการนำเสนอและเนื้อหาของการนำเสนอ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งนำเสนอข้อมูลที่อาจทำความเสื่อมเสียมาสู่สถานศึกษาได้
การเผยแพร่งานสามารถทำได้ในลักษณะวารสารออนไลน์ ซึ่งอาจจะเป็นวารสารของโรงเรียนหรือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจจะเป็นลักษณะของกลุ่มสนใจก็ได้
(7) ส่งเสริมความสามารถเฉพาะบุคคล เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันและมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงมีความสนใจและความต้องการที่แตกต่างกันด้วย ครูจะต้องพยายามพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น แม้จะเป็นการยากที่ครูจะทำหลักสูตรหรือสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กตามที่เด็กทุกคนต้องการได้ แต่การพัฒนาให้เด็กในฐานะผู้เรียนได้รู้จักตนเองว่าเป็นใคร และมีความต้องการในเรื่องใดก็สามารถนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของเด็กได้
(8) ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับชุมชน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนจะต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่เสมอ อินเทอร์เน็ตจะช่วยให้ครูฝ่าอุปสรรคในการติดต่อระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เทคโนโลยีทางเว็บทำให้ครูสามารถจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนและหลักสูตรเพื่อนำเสนอบนเว็บได้ สมาชิกของชุมชนทุกคนสามารถที่จะได้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว นักเรียนสามารถเรียกใช้ข้อมูลที่ตนต้องการเชื่อมโครงงานต่าง ๆ ในรายวิชาที่เรียน ผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานของโรงเรียนได้เป็นวัน ๆ ส่วนสมาชิกในชุมชนที่ไม่มีบุตรก็จะได้รับทราบเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ภายในโรงเรียน
(9) การพัฒนาทางด้านวิชาการของครู ปัจจุบัน ครูจำนวนมากยังขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี การนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนการสอนนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะนักเรียนเท่านั้นที่เป็นผู้เรียนแต่ครูก็เป็นผู้เรียนด้วย อินเทอร์เน็ตช่วยให้ครูมีประสบการณ์มากขึ้น โดยครูสามารถที่จะติดต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูคนอื่น ๆ ทำให้ครูได้เรียนรู้วิธีการสอนใหม่ ๆ และสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการสอนของตัวครูเอง สำหรับครูจำนวนมากแล้ว การใช้อินเทอร์เน็ตหมายถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสิ่งที่ครูยังไม่เคยรู้มาก่อน การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาวิชาชีพของครูสามารถได้มาจากประสบการณ์เหล่านี้ เป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการเรียนรู้ซึ่งมีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต
4.2 มหาวิทยาลัยเสมือน (Virtual University) เป็นการเรียนที่ผู้เรียนจะเรียนรู้เนื้อหาจากการฟังบรรยายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จากบทเรียนในเว็บไซต์ที่อาจารย์ผู้สอนกำหนดไว้ จากการค้นคว้า จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จากการปรึกษากับผู้สอน จากการสร้าง E-mail โต้ตอบในบางเรื่อง โดยทั่วไปแล้ว การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเสมือนจะใช้ระบบ e-Learning ในระบบของมหาวิทยาลัยเสมือนนั้น การทำธุรกิจต่าง ๆ จะกระทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทั้ง หมด ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องไปมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยลักษณะนี้บางทีเรียกว่า Cyber University ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป ที่ใช้ระบบนี้ สำหรับในประเทศไทย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญใช้ระบบนี้แล้ว และในปีต่อๆ ไปจะมีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งที่จะจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้
4.3 ห้องเรียนเสมือน (Virtual classroom) ห้องเรียนลักษณะนี้เป็นห้องเรียนที่ผู้เรียนจะอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลก โดยผู้สอนจะสอนอยู่ในห้องส่งซึ่งอาจจะเป็นห้องเรียนจริงก็ได้ แล้วส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งภายในหรือภายนอกสถานศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนพร้อม ๆ กัน การเรียนด้วยระบบนี้ห้องส่งจะต้องมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ครบถ้วน เช่น กล้องวิดีทัศน์ ไมโครโฟน ลำโพง และซอฟต์แวร์ ที่จะจัดการส่งสัญญาณภาพและเสียง สำหรับผู้เรียนจะมีเพียงคอมพิวเตอร์เท่านั้นก็สามารถเรียนได้แล้ว แต่ถ้าหากต้องมีการโต้ตอบกับผู้สอน ผู้เรียนจะต้องมีกล้องวิดีทัศน์ติดตั้งไว้ แล้วสามารถพูดผ่านไมโครโฟนโต้ตอบกับผู้สอนได้เลย

5. การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน

ดาวเทียมสามารถใช้ในการสอนแบบทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลักษณะการทำงานคือ ครูจะสอนนักเรียนในห้องเรียนซึ่งทำหน้าที่เป็นห้องส่งสัญญาณ ภาพและเสียงจากห้องควบคุมจะถูกส่งจากสถานีส่งภาคพื้นดินขึ้นไปยังสถานีถ่ายทอดบนดาวเทียมซึ่งลอยอยู่ในอวกาศ และสัญญาณภาพจากสถานีบนดาวเทียมจะถูกส่งลงมายังเครื่องรับโทรทัศน์บนภาคพื้นดิน การส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมนั้นยังเป็นที่นิยมใช้เพื่อการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่มีสายสัญญาณโทรศัพท์
ในประเทศไทย การสอนทางไกลด้วยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การจัดการเรียนการสอนใช้วิธีถ่ายทอดสดการสอนจากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน หลักสูตรในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ หลักสูตรในระดับมัธยมศึกษา
สำหรับในต่างประเทศ ได้มีการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถาบันอุดมศึกษาด้วยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมมานานแล้ว เช่น Ghandi National Open University ในประเทศอินเดีย The African Virtral University ในประเทศอาฟริกา และ The Monterry Institute of Technology ในประเทศเม็กซิโก

6. การเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกลด้วยวิดีทัศน์

เทคโนโลยีการประชุมทางไกลด้วยวิดีทัศน์ (Video Teleconference) เป็นเทคโนโลยีการส่งสัญญาณจากห้องส่งไปยังสถานีรับโดยผ่านทางสายสัญญาณ ผ่านไมโครเวฟ และดาวเทียม ถ้าเป็นการเรียนการสอน ผู้สอนจะทำการสอนอยู่ในห้องเรียนซึ่งจะทำหน้าที่เป็นห้องส่งไปในตัวด้วย สัญญาณภาพและเสียงจะถูกส่งไปยังเครื่องรับปลายทาง สำหรับเครื่องรับปลายทางนั้น นอกจากนำภาพและเสียงมาเผยแพร่แล้วยังจะต้องมีอุปกรณ์ที่จะให้ผู้เรียนสามารถถามปัญหาต่าง ๆ จากผู้สอนได้ เทคโนโลยีการสอนโดยวิธีนี้ นอกจากใช้สอนโดยตรงแล้วยังสามารถที่จะใช้ทบทวนบทเรียนที่เคยสอนแล้วได้ด้วย โดยการนำสำเนาข้อมูลการสอนครั้งที่ผ่านมามาเปิดดูได้ใหม่ ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยีการสอนแบบนี้อยู่หลายแห่ง ตัวอย่างเช่น ที่มหาวิทยาลัย ราชภัฎสวนดุสิต มีการเรียนการสอนทางไกลโดยการส่งสัญญาณภาพและเสียงจากมหาวิทยาลัย ผ่านสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติค (Fibre optic) ไปยังศูนย์การศึกษาต่าง ๆ ที่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 20 ศูนย์การศึกษา ที่ห้องเรียนรวมของศูนย์ฯ จะมีจอภาพขนาดใหญ่ที่ใช้รับภาพและอาจมีโทรทัศน์ประกอบด้วย ห้องเรียนที่มีขนาดใหญ่มาก เสียงจะส่งออกทางลำโพงที่ติดไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ภาพและเสียงจะถูกปรับให้คมชัดโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมที่อยู่ในห้องควบคุม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลระหว่างมหาวิทยาลัยที่บางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสน โดยส่งสัญญาณภาพและเสียงออกไปจากห้องเรียนที่ศูนย์เรียนรวมบางเขนไปยังห้องเรียนที่ศูนย์เรียนรวมกำแพงแสนโดยระบบไมโครเวฟ ที่ศูนย์เรียนรวมนี้ ภาพจะถูกฉายขึ้นบนจอภาพขนาดใหญ่ และเสียงจะส่งออกทางลำโพงที่ติดไว้ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของห้อง ภาพที่ปรากฏบนจอภาพสามารถปรับให้มีความคมชัดโดยเจ้าหน้าที่ในห้องควบคุม นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการสอน เช่น ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยนเรศวร

7. การใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนการสอน
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นการใช้ระบบช่วยงานคอมพิวเตอร์เพื่อการรับและการส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน โดยที่ทั้งผู้ส่งและผู้รับจะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเข้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้เพื่อติดต่อเข้าศูนย์บริการข้อมูล ในการส่งข้อมูลและข่าวสารนั้น สามารถที่จะส่งได้ทั้งข้อมูลที่เป็นอักษร ภาพ และเสียง เมื่อผู้ส่งข่าวสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตเข้าศูนย์คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลของระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตนใช้อยู่เพื่อส่งต่อไปยังผู้รับที่ติดต่อ ทางฝ่ายผู้รับอาจจะเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนไว้ตลอดเวลา แล้วตั้งโปรแกรมให้เตือนเมื่อมีข่าวสารส่งเข้ามาโดยที่ผู้รับไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา หรือถ้าไม่ได้เปิดเครื่องไว้ ข่าวสารที่ส่งมานั้นจะถูกเก็บไว้ในเครื่องบริการที่ผู้รับเป็นสมาชิก เมื่อผู้รับทราบว่ามีข่าวสารอะไรส่งบ้างก็จะเปิดเครื่องตรวจสอบได้
สถานศึกษาสามารถใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนได้ในลักษณะดังต่อไปนี้
7.1 การอภิปรายกลุ่ม ตามปกติแล้วการอภิปรายในชั้นเรียนจะเป็นการให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน การอภิปรายจึงเป็นกิจกรรมสำคัญในการเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนนั้น แต่การอภิปรายโดยทั่วไปของนักเรียนไทยมักจะใช้วิธีการพูดหรือการแสดงออก การใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นการขจัดความกลัวออกไปได้ นักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนั้นก็จะสามารถส่งไปได้เลย การสนทนาทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกันจึงคล้ายคลึงกับการอภิปรายในชั้นเรียน นอกจากเรื่องการขจัดความกลัวแล้วยังขจัดปัญหาในเรื่องของเวลาและยังทำให้ครูสามารถเข้าถึงนักเรียนเป็นรายคนได้
7.2 การส่งงานและการติดตามงาน เมื่อครูมอบหมายให้นักเรียนทำตามเวลาที่กำหนดแล้วให้ส่งงานทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้านักเรียนไม่ส่งครูสามารถติดตามได้โดยไม่ต้องทวงถามในชั้นเรียนให้นักเรียนมีความรู้สึกไม่ดี

8. การใช้เว็บเพื่อการเรียนการสอน

เนื่องจากเว็บเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งข้อมูลมหาศาล จึงมีนักการศึกษาพยายามที่จะใช้เว็บเป็นเครื่องมือในการสอน ซึ่งเรียกการสอนแบบนี้ว่าการสอนบนเว็บ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบสื่อหลายมิติ (Hypermedia) ที่นำเอาคุณลักษณะเด่นและทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเว็บมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนการสอน และกิจกรรมการเรียนการสอน
การสอนบนเว็บสามารถใช้ได้กับทุกวิชาโดยอาจจะใช้สอนทั้งรายวิชาหรือเพื่อประกอบเนื้อหาวิชาการสอน แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
8.1 ใช้เว็บทั้งวิชา เป็นการสอนที่ผู้สอนนำเนื้อหาวิชาและทรัพยากรทั้งหมดนำเสนอไว้บนเว็บ ผู้เรียนจะเรียนผ่านทางคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต การสอนลักษณะนี้ส่วนมากจะใช้กับระบบการศึกษาทางไกล
8.2 ใช้เว็บเสริม เป็นการเรียนการสอนที่ผู้เรียนและผู้สอนจะพบกันในห้องเรียนแต่เนื้อหาและทรัพยากรหลายอย่างที่สนับสนุนเนื้อหาและกิจกรรมที่จะทำระหว่างเรียน ผู้สอนจะกำหนดไว้บนเว็บผู้เรียนจะต้องไปศึกษาเอง
8.3 การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ บนเว็บเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา วิชาการสอนแบบนี้อาจารย์จะนำเว็บที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชามาเป็นส่วนหนึ่งของวิชา หรืออาจใช้เป็นกิจกรรมการเรียนของวิชาก็ได้ การสอนแบบนี้นักเรียนจะต้องค้นหาข้อมูลศึกษารายละเอียดต่าง ๆ จากเว็บที่กำหนด




9. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อการเรียนการสอน

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction : CAI) เป็นกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อคอมพิวเตอร์นำเสนอเนื้อหาเรื่องราวต่าง ๆ มีลักษณะเป็นการเรียนโดยตรง และเป็นการเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) คือสามารถโต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ได้ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ควรมีลักษณะการนำเสนอเป็นตอนสั้น ๆ ที่เรียกว่า เฟรมหรือกรอบเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง (Self learning) และควรทำปุ่มควบคุมหรือรายการควบคุมการทำงาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์ได้ เช่น มีส่วนที่เป็นบททบทวนหรือแบบฝึกปฏิบัติรวมทั้งแบบทดสอบ
หลังจากที่มีการนำเสนอไปแต่ละตอนหรือแต่ละช่วงควรตั้งคำถามเพื่อทบทวนหรือตรวจสอบความเข้าใจในเนื้อหาใหม่ที่นำเสนอให้ผู้เรียน การตอบสนองต่อการตอบคำถาม ควรใช้เสียงหรือคำบรรยายหรือภาพกราฟิกเพื่อสร้างแรงจูงใจ ความมั่นใจในการเรียนรู้ โดยเฉพาะเนื้อหาสำหรับเด็กเล็ก นอกจากนี้ควรมีส่วนที่เสริมความเข้าใจในกรณีที่ผู้เรียนตอบคำถามผิด ไม่ควรข้ามเนื้อหา โดยไม่ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง
เวลาในการเรียนควรให้อิสระต่อผู้เรียน ไม่ควรจำกัดเวลาเพื่อเปิดโอกาสให้เรียนตามความต้องการของผู้เรียน เนื้อหาบทเรียนควรมีทางเลือกหลากหลาย เช่น ถ้าผู้เรียนรับรู้ได้เร็ว ก็สามารถข้ามเนื้อหาบางช่วงได้ เป็นต้น
การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยสอนหรือมาใช้งาน สามารถกระทำได้หลายลักษณะ ได้แก่
9.1 ใช้สอนแทนผู้สอนทั้งในและนอกห้องเรียน ทั้งระบบสอนแทน บททบทวน และสอนเสริม
9.2 ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนทางไกลผ่านสื่อโทรคมนาคม เช่นผ่านดาวเทียม เป็นต้น
9.3 ใช้สอนเนื้อหาที่ซับซ้อนไม่สามารถแสดงของจริงได้ เช่น โครงสร้างของโมเลกุลของสาร
9.4 เป็นสื่อช่วยสอนการควบคุมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ หรือวิชาที่มีอันตรายโดยการสร้างสถานการณ์จำลอง เช่น การสอนขับเครื่องบิน การควบคุมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่
9.5 เป็นสื่อแสดงลำดับขั้นของเหตุการณ์ที่ต้องการให้เห็นผลอย่างชัดเจนและช้า เช่น การทำงานของมอเตอร์รถยนต์หรือหัวเทียน